shopup.com

สถิติผู้เข้าชมเว็บ

12162852

ดูบทความสาเหตุปวดเข่า กับ 6 โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดเข่าทั้งหมด

สาเหตุปวดเข่า กับ 6 โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดเข่าทั้งหมด

 

สาเหตุปวดเข่า กับ 6 โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดเข่าทั้งหมด

 

เมื่อเรามีอาการปวดเข่า โรคอันดับต้นๆที่เราจะนึกถึงส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นโรคข้อเข่าเสื่อม หรือไม่ก็กล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่าอักเสบกันใช่มั้ยครับ แต่รู้หรือไม่ว่าตำแหน่งที่ปวดของเข่าแต่ล่ะตำแหน่ง และอายุของเรานั้นสามารถบ่งบอกถึงโรคที่เกี่ยวกับเข่าได้ว่าเราน่าจะเป็นโรคอะไร ฉะนั้น เรามาดูรายละเอียดของโรคที่เกี่ยวกับอาการปวดเข่าที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปกันครับว่ามีอะไรบ้าง

 

ภาพแสดงให้เห็นว่ากระดูกข้อเข่าอยู่ชิดกันมาก และมีกระดูกงอกที่เข่าด้านใน

 

1) โรคข้อเข่าเสื่อม (osteoarthritis knee)

 

จัดว่าเป็นโรคยอดฮิตของคนไทยเลยก็ว่าได้ ด้วยพฤติกรรมของคนไทยที่ชอบนั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่ากันบ่อยๆ ร่วมกับอายุที่มากขึ้น กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงจนทำให้กล้ามเนื้อมีแรงน้อยลงในการพยุงข้อเข่าจนหมอนรองกระดูกข้อเข่าค่อยๆเสื่อม จนกลายเป็นโรคข้อเสื่อมในที่สุด ซึ่งกว่าจะเป็นเข่าเสื่อมได้นั้นก็กินเวลากันเป็นปีๆเลยครับผม

 

จุดเด่นของคนที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นก็คือ

 

- มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน ส่วนใหญ่ก็คืออายุ 45 ปีขึ้นไป

- ตำแหน่งที่ปวดนั้น มักปวดที่ข้อเข่าด้านในมากกว่าส่วนอื่นทั้งหมด

- รู้สึกข้อเข่าฝืดในช่วงเช้าหลังตื่นนอน แต่เมื่อเดินไปสักพักข้อเข่าก็จะเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ฝืดน้อยลง

- ปวดมากขึ้นเมื่อพยายามงอเข่า พับเข่า โดยจะมีความรู้สึกตึงๆขัดๆเสียวๆอยู่ในข้อเข่าด้านหลังเวลางอเข่า (แต่บางรายก็ปวดรอบๆเข่าทั่วไปหมดก็มี)

- ไม่สามารถนั่งขัดสมาธิได้ หากนั่งขัดสมาธิก็ต้องนั่งเหยียดขาขางที่ปวดออก

- ในระยะเริ่มแรกที่เป็นอาจมีภาวะข้อเข่าบวม จากนํ้าเลี้ยงข้อที่เพิ่มขึ้นเพื่อพยายามซ่อมแซมเนื้อเยื่อในเข่าที่เสียหาย

- หากเป็นมานานจะเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเข่า นั่นคือมีภาวะเข่าโก่ง

- มีเสียงดังกร๊อบแกร็บในข้อเข่า จากภาวะที่เข่าหลวมทำให้ผิวข้อกระดูกเสียดสีกันจนเกิดเสียงขึ้น

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- ข้อเข่าเสื่อม โรคยอดฮิตวัยชรา

- 6 สัญญาณ เช็คข้อเข่าเสื่อม

คลิป เกี่ยวกับข้อเข่าเสื่อม

- วิธีบริหารข้อเข่า (8 ท่า บริหารข้อเข่าในคนเป็นเข่าเสื่อม)

- วิธีดัดเข่าลดปวด (6 วิธี ดัดดึงข้อเข่า เพื่อรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ)

 

ตำแหน่งที่ปวดใต้ข้อพับเข่าจากโรค hamstring strain 

 

2) โรค hamstring strain (อาการปวดใต้ข้อพับเข่า จากกล้ามเนื้ออักเสบ)

 

สำหรับโรค hamstring strain เป็นอาการปวดเข่าด้านหลังที่ไม่ค่อยพบในผู้สูงอายุ  แต่จัดว่าเป็นโรคที่พบได้เฉพาะในกลุ่มนักกีฬาวิ่งเร็ว หรือกีฬาที่ต้องมีการกระโดดอยู่เป็นประจำ ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าวทำให้กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง หรือกล้ามเนื้อ hamstring นั้นถูกฉีกกระชาก ถูกใช้งานหนักบ่อยๆเข้า จนเส้นใยกล้ามเนื้อบางส่วนฉีกขาดและเกิดการอักเสบขึ้นนั่นเองครับผม

 

โดยอาการปวดจะเกิดขึ้นที่บริเวณใต้ข้อพับเข่า และจะปวดมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยพยายามวิ่งเร็ว กระโดด ทำกิจกรรมที่ต้องมีการงอเข่าอยู่บ่อยๆ หรือยืดกล้ามเนื้อ hamstring โดยการนั่งเหยียดขาก้มตัวแตะปลายเท้า ซึ่งการยืดกล้ามเนื้อก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดมากขึ้นได้

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- ปวดใต้ข้อพับเข่า อาการที่ไม่ได้เป็นเข่าเสื่อม แถมพบมากในนักวิ่ง

คลิป เกี่ยวกับโรค hamstring strain 

- วิธียืดกล้ามเนื้อขาทั้งหมด (รวมเทคนิคยืดกล้ามเนื้อขาทั้งหมด)

- ออกกำลังกายกล้ามเนื้อ hamstring (5 ท่า บริหารข้อเข่า แก้ปัญหาเข่าแอ่น)

 

ตำแหน่งที่ปวดข้อเข่าด้านนอกจากโรค IT band syndrome

 

3) โรค IT band syndrome (อาการปวดข้างเข่าด้านนอก จากพังผืดอักเสบ)

 

โรค IT band syndrome ก็จัดว่าเป็นโรคเฉพาะกลุ่มอีกเช่นกัน มักพบในกลุ่มนักวิ่งมาราธอน หรือนักปั่นจักรยานทางไกล โดยจะมีอาการปวดที่ข้างเข่าทางด้านนอก ซึ่งเกิดจากตัวพังผืดที่มีชื่อว่า iliotibial band ไปเสียดสีกับปุ่มกระดูกที่อยู่ข้างเข่าด้านนอกชื่อ lateral femoral epicondyle ในขณะที่เราวิ่งหรือปั่นจักรยาน เมื่อเกิดการเสียดสีบ่อยๆเข้า ก็ทำให้ตัวพังผืดเกิดการฉีกขาดขึ้นบางส่วน และเกิดการอักเสบขึ้นในที่สุดจนกลายเป็นที่มาของโรค IT band syndrome (ชื่อเต็ม iliotibial band syndrome)

 

จุดเด่นของคนที่เป็นโรคนี้ก็คือ มักจะปวดเมื่อวิ่งไปถึงระยะทางเดิมๆก็จะเริ่มมีอาการปวดเกิดขึ้น และหากยังคงฝืนวิ่งต่อไปก็จะปวดมากขึ้นจนวิ่งต่อไม่ไหว เช่น เมื่อผู้ป่วยวิ่งในระยะแรกๆจะไม่มีอาการปวด แต่พอวิ่งไปได้ระยะทางที่ 2,000 เมตร ก็จะเริ่มมีอาการปวดที่ข้างเข่าด้านนอกทันที พอพักได้ 2-3 วัน กลับไปวิ่งใหม่ และเมื่อวิ่งไปได้ระยะทาง 2,000 เมตรอาการปวดก็กำเริ่มขึนอีก เป็นแบบนี้ทุกครั้งที่วิ่งออกกำลังกาย อาการปวดส่วนใหญ่ก็จะอยู่แค่ข้างเข่าด้านนอก แต่บางรายก็จะมีอาการปวดที่ข้างต้นขาด้านนอกทั้งแถบเลยก็ได้ในกรณีที่ปวดเรื้อรังมานาน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- โรค IT band syndrome อีก 1 โรคยอดฮิตในหมู่นักวิ่ง กับอาการปวดเข่าด้านนอก

คลิป รักษาโรค IT band syndrome

- วิธีลดปวดโรค IT band syndrome (4 วิธีรักษาอาการปวดเข่าด้านนอก)

- วิธีบริหารข้อเข่าในผู้ที่เป็น IT band syndrome (5 ท่า บริหารข้อเข่า ในคนเป็นโรค IT band syndrome)

 

ลักษณะเข่าที่บิดจนเป็นสาเหตุของโรคเอ็นไข้วหน้าเข่าฉีกขาด

 

4) โรค ACL injury (โรคเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด) 

 

โรคเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด จัดว่าเป็นโรคยอดฮิตในหมู่นักฟุตบอล หรือในกลุ่มคนที่ชอบเล่นกีฬาที่ต้องมีการวิ่งซิกแซ็กหลบหลีกคู่ต่อสู้อยู่บ่อยๆ สาเหตุหลักๆก็มาจากการวิ่งลงนํ้าหนักและเกิดเข่าบิดในขณะที่เข่าเหยียดตรงอยู่ ทำให้เส้นเอ็นไขว้หน้าถูกกระชากจนฉีกขาด หรือไม่ก็เกิดจากเรายืนเหยียดเข่าอยู่เฉยๆ แต่จู่ๆมีคนมาสไลด์ชนปลายเท้าเราทำให้เข่าบิดจนเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดได้เช่นกัน สรุปง่ายๆ เอ็นไขว้หน้าเข่าจะฉีกขาดได้ก็ต่อเมื่อมีแรงมากระทำต่อข้อเข่าของเรานั่นเองครับผม มักพบในกลุ่มเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ชอบเล่นกีฬาที่เกี่ยวข้องกับการวิ่งอยู่เป็นประจำ

 

อาการหลักของคนเป็นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดก็คือ เมื่อเอ็นขาดใหม่ๆ ข้อเข่าจะบวมภายในไม่กี่ชั่วโมง มีบวม แดง และร้อนอย่างชัดเจนที่ข้อเข่า ไม่สามารถเดินลงนํ้าหนักของขาข้างที่มีปัญหาได้ รู้สึกข้อเข่าไม่ค่อยมีความมั่นคง (เข่าหลวม) ขณะเดินจะรู้สึกว่าหน้าแข้งมันจะเคลื่อนไปด้านหน้าตลอด เป็นต้น

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด โรคยอดฮิตในหมู่นักบอล

คลิป เกี่ยวกับเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด

- วิธีตรวจโรคเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด (สาเหตุเอ็นไข้วหน้าเข่าขาด พร้อมวิธีตรวจโรค)

- วิธีฟื้นฟูเข่าหลังผ่าเอ็นไขว้หน้า (วิธีฟื้นฟูเอ็นไขว้หน้า หลังผ่าตัดสัปดาห์ที่ 1-2)

 

ตำแหน่งเส้นเอ็นใต้ลูกสะบ้าที่ปวดของโรค  jumper knee

 

5) โรค jumper knee (โรคข้อเข่านักกระโดด)

 

ในบรรดาโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดเข่าทั้งหมดที่กล่าวมา โรค jumper knee จัดว่าเป็นโรคที่พบได้น้อยที่สุดแล้วครับ เพราะโรคนี้มักพบในกลุ่มนักกีฬาหรือคนที่ชอบออกกำลังกายโดยการกระโดดอยู่เป็นประจำ ซึ่งเกิดจากเส้นเอ็นใต้ลูกสะบ้าถูกฉีกกระชากจากกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (quadriceps) หดตัวอย่างเร็วและแรงในขณะที่เรากำลังกระโดดขึ้นนั่นเองครับ

 

อาการของผู้ที่เป็นโรคนี้ก็คือ จะมีอาการปวดที่ข้อเข่าทางด้านหน้า โดยเฉพาะตำแหน่งใต้ลูกสะบ้า เมื่อกดลงไปตรงเอ็นใต้ลูกสะบ้าจะยิ่งทำให้เจ็บปวดมากยิ่งขึ้น บางรายก็มีอาการปวดรอบๆลูกสะบ้าเลยก็มี โดยอาการปวดนั้นจะปวดที่ผิวๆหาจุดกดเจ็บเจอได้ง่าย แต่ถ้าเป็นข้อเข่าเสื่อมก็จะมีอาการปวดด้านหน้าเข่าได้เช่นกัน จะต่างกันตรงที่ผู้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อมนั้นจะรู้สึกปวดลึกๆอยู่ข้างในเข่า หาจุดกดเจ็บไม่เจอครับผม

 

รายละเอียดเกี่ยวกับโรคนี้

- อาการปวดเข่า ในโรคข้อเข่านักกระโดด

 

ตำแหน่งของถุงนํ้า (bursa) ที่อักเสบจนทำให้เป็นโรคเข่าแม่บ้าน

 

6) โรค prepatellar bursitis (โรคเข่าแม่บ้าน)

 

หากจะบอกว่าโรค jumper knee พบได้น้อยแล้วโรคเข่าแม่บ้านจัดว่าพบได้น้อยยิ่งกว่า เพราะคนจะเป็นโรคนี้จะมีอยู่ 2 ส่วนหลักๆคือ ชอบนั่งคุกเข่าในลักษณะที่นํ้าหนักตัวกดลงไปที่ลูกสะบ้าโดยตรงเหมือนท่านั่งคุกเข่าถูพื้น (เพราะเหตุนี้เค้าถึงเรียกกันว่า โรคเข่าแม่บ้าน) กับอีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากล้มข้อเข่ากระแทกพื้นโดยตรง ทำให้ถุงนํ้าที่อยู่บนลูกสะบ้าได้รับการกระทบกระเทือนและเกิดอับเสบขึ้นจนปวดบวมอย่างชัดเจน

 

ภาพแสดงถุงนํ้าที่บวมจากโรคเข่าแม่บ้าน

 

ลักษณะอาการของผู้ที่เป็นโรคเข่าแม่บ้านก็คือ ข้อเข่าบวม แต่จะไม่ได้บวมทั่วทั้งเข่า จะบวมแค่บริเวณเหนือลูกสะบ้าเท่านั้น และจะบวมเป็นลักษณะปูดนูนขึ้นมาเหมือนมีถุงนํ้าอยู่ภายใน 

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคนี้

- โรคเข่าแม่บ้าน ไม่ต้องเป็นแม่บ้านก็ปวดเข่าได้

 

เป็นยังไงกันบ้างครับกับโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดเข่าทั้งหมด หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์ช่วยในการวินิจฉัยโรคของตัวเองได้ไม่มากก็น้อยนะครับ 

 

เครดิตภาพ 

- http://www.prevention.com/health/natural-knee-pain-cures

- http://www.euflexxa.com/stages-of-osteoarthritis-knee/

- http://besport.org/sportmedicina/hamstring-syndrome.htm

- http://www.avarinshop.com/product/pro-tec-band-compression-wrap/

- https://medlineplus.gov/ency/article/001074.htm

- http://www.don1don.com/archives/35541/%E9%AB%95%E9%AA%A8%E8%82%8C%E8%85%B1%E7%82%8Epatella-tendinitis

- http://medical-dictionary.thefreedictionary.com/prepatellar+bursitis

- http://www.footpainreliefstore.com/library/PPB.htm

 

09 เมษายน 2560

ผู้ชม 221627 ครั้ง

    Engine by shopup.com