shopup.com

สถิติผู้เข้าชมเว็บ

12163108

ดูบทความปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง โรคสุดฮิตวัยทำงาน

ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง โรคสุดฮิตวัยทำงาน

 

โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง (Myofascial Pain Syndrome) MPS

จัดว่าเป็นโรคยอดฮิตสำหรับคนวัยทำงานเลยนะครับ โดยเฉพาะคนทำงานในเมือง ในออฟฟิศ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยจุดเด่นของคนเป็นโรคนี้ก็คือต้องมี "จุดกดเจ็บ" หรือที่เรียกกันว่า trigger points  มีลักษณะที่สำคัญคือ เมื่อเราใช้นิ้วคลำบริเวรกล้ามเนื้อที่มีอาการปวดอยู่นั้นจะพบปุ่มก้อนนูนอยู่ภายในกล้ามเนื้อ และถ้ากดลงที่ก้อนนั้นจะมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณอื่น เช่น ปวดบ่าแต่เมื่อกดก้อนนั้นตรงบ่าอาการปวดจะร้าวลงแขน หรือร้าวไปยังขมับได้ครับ


ปัจจุบันนี้พบว่าคนเป็นโรค MPS จะอยู่ในช่วงอายุ 28-50 ปี และเมื่อพูดถึงอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังในลักษณะนี้ คนไข้มักจะถามผมว่า โรค MPS กับ โรคออฟฟิศซินโดรม มันเป็นโรคเดียวกันรึเปล่า เพราะมีทั้งปวดกล้ามเนื้อและปวดร้าวเหมือนกันเลย? ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คงต้องบอกว่า ใช่เลยครับ เป็นโรคเดียวกัน เพียงแต่โรค MPS เป็นการพูดถึงอาการปวดกล้ามเนื้อแบบกว้างๆ แต่โรคออฟฟิศซินโดรมเป็นการกล่าวถึงคนที่มีอาการปวดแบบ MPS เฉพาะบริเวณที่คอ บ่า และไหล่เท่านั้นเองครับ หรือพูดง่ายๆก็คือ โรคออฟฟิศซินโดรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโรค MPS นั่นเองครับ


ภาพแสดงบริเวณที่ปวดและตำแหน่งของ trigger point 


ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค

1) ปัจจัยทางเชิงกล พบได้มากที่สุด

เกิดจากกล้ามเนื้อได้รับแรงเครียดเป็นปัจจัยสำคัญ ตัวอย่าง อาจจะเกิดจากการทรงท่าไม่ดี เช่น ชอบสะพายกระเป๋าข้างเดียว, นั่งไขว้ห้าง เป็นต้น  ทำงานในท่าที่ซํ้าๆเดิมๆเป็นเวลานานติดต่อกัน ทำงานที่ต้องเกร็งกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งส่วนใดเป็นเวลานาน

2) ปัจจัยทางจิตใจ

เช่น มีภาวะเครียดอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดใจ ความเศร้าหมอง ซึ่งอารมณ์ไม่ดีเหล่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อเกิดความเครียดและตึงตัวอยู่ตลอดเวลาจนนำไปสู่โรค MPS ในที่สุด

3) ปัจจัยอื่นๆ

เช่น การนอนไม่เพียงพอ เป็นภูมิแพ้ มีโรคประจำตัวที่ทรงผลต่อทางด้านร่างกายและจิตใจ

กลไกการเกิดโรค MPS


เชื่อเกิดจากกล้ามเนื้อทำงานหนักมากๆติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จนทำให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ มีภาวะกล้ามเนื้อหดตัวค้าง กล้ามเนื้อคาดพลังงานในการหดคลายตัวเอง ซึ่งเป็นผลให้เกิดของเสียคั่งค้างในกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ จนทำให้เกิดอาการปวดตามมา


อาการของโรค MPS


- มีอาการปวดร้าวลึกๆของกล้ามเนื้อ ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยอาจปวดตลอดเวลาแม้ขณะพักหรือปวดเฉพาะเวลาทำงาน 

ปวดบริเวณบ่าและร้าวขึ้นขมับ ซึ่งอาการจะคล้ายๆไมเกรน
- ความรุนแรงของการปวด มีได้ตั้งแต่แค่เมื่อยล้าพอรำคาญ จนไปถึงปวดทรมานจนไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดได้ บางรายอาจมีอาการปวดแม้ในขณะหลับจนต้องสะดุ้งตื่นเป็นระยะ
- บางกรณีมีอาการปวดมากจนชามือและชาขาร่วมด้วย
- บางรายมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง อาการนอนไม่หลับจากอาการปวด
- มีอาการผิดปกติของโครงสร้างร่างกาย เช่น ไหล่สูงต่ำไม่เท่ากัน หลังงอ คอตก ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ทำให้กล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุลกันจนทำให้เกิดอาการปวด

ภาพแสดงก้อน trigger point ในเส้นใยกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดอาการปวดร้าว


กลไกการเกิดจุดกดเจ็บ (trigger point)


เริ่มต้นนั้นเกิดจากการที่กล้ามเนื้อทำงานมากเกินไป จนกล้ามเนื้อได้รับอันตรายและบาดเจ็บในระดับเซลล์กล้ามเนื้อ จนทำให้เกิดการฉีกขาดของ sacroplasmic reticulum และมี Ca+ (แคลเซี่ยม) รั่วออกมา เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหดตัวค้าง เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวค้างนานจะทำให้กล้ามเนื้อเกิดความตึงตัวและขาดเลือด ดังนั้น เมื่อคลำบริเวณนั้นจะพบกล้ามเนื้อแข็งตึงเป็นลำนั้นเอง


การรักษาโรค MPS 


ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดไม่รุนแรงนั้น เพียงแค่หมั่นยืดกล้ามเนื้อมัดที่ปวดเป็นประจำอาการปวดก็จะทุเลาลงได้เองครับ หรือนวดก็ช่วยได้ แต่ในรายที่มีอาการปวดเรื้อรังมานานมากกว่า 2 เดือนและอาการปวดรบกวนการดำเนินชีวิตมาก แนะนำให้เข้ารับการรักษา โดยสามารถเข้ารับการรักษาได้หลายแขนง เช่น การฝังเข็มกล้ามเนื้อที่ปวด, การรักษาจากแพทย์แผนไทย, การทำกายภาพบำบัด เป็นต้น 


โดยการรักษาทางกายภาพจะใช้การประคบร้อนและเครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น laser, ultrasound, shortwave, microwave เพื่อลดปวด และคลายกล้ามเนื้อที่ตึงตัว นอกจากนี้จะใช้เทคนิค deep friction กดตรงจุด trigger point เพื่อให้ก้อนนูนในกล้ามเนื้ออ่อนตัวลงในกรณีที่ใช้เครื่องมือไม่เห็นผลชัดเจน ซึ่งขณะที่กดผู้ป่วยจะรู้สึกปวดร้าวไปตามโซนร้าวของกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ เช่น ในรายที่ปวดบ่าและนักกายภาพกดลงไปที่บ่า ผู้ป่วยจะรู้สึกปวกร้าวลงมาที่ต้นแขนและร้าวไปที่ขมับเป้นอาการปวดกว้าง แต่จะเป็นเฉพาะขณะที่กดเท่านั้นนะครับ เมื่อก้อนนูนมีขนาดเล็กลงอาการปวดร้าวก็จะร้าวในพื้นที่ที่แคบลง แคบลงจนปวดเฉพาะจุดที่กดครับผม 


นอกจากการรักษาที่กล่าวไว้ ผู้ป่วยก็ควรหมั่นออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อมัดที่มีปัญหาให้มีความแข็งแรงด้วยนะครับ ผู้ป่วยหลายคนมักจะถามเสมอว่าการออกกำลังกายมันช่วยลดปวดได้หรอ ทำไมต้องออกกำลังด้วย? ตอบอย่างง่ายๆเลยนะครับ การออกกำลังกาย (โดยการเล่นเวทเหมาะมากกับผู้ที่เป็นโรค MPS) มันช่วยลดปวดได้ทางอ้อมครับ นั่นคือในรายที่ออกกำลังอย่างสมํ่าเสมอจะทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อมีความแข็งแรงมากกว่าคนที่ไม่ออกกำลัง โอกาสการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อจากการทำงานที่ต้องคงค้างนานๆจะเกิดขึ้นน้อยกว่านั่นเองครับ และที่สำคัญนะครับ การออกกำลังกายนี่เป็นการลงทุนทางสุขภาพที่ราคาถูกที่สุดแล้วขอแค่ทำอย่างสมํ่าเสมอห่างไกลโรคภัยแน่นอนครับผม^^

คลิป : วิธีลดปวดคอ บ่า จากโรคออฟฟิศ ซินโดรม (รวมวิธีลดปวดคอ บ่าจากโรคออฟฟิศ ซินโดรม)

คลิป : วิธีลดปวดไหล่ สะบัก จากโรคออฟฟิศ ซินโดรม (รวมวิธีลดปวดไหล่ สะบักจากโรคออฟฟิศ ซินโดรม)


เครดิตภาพ
- http://www.trisoma.com/trigger-point.html
- http://socalpain.com/myofascial-pain-syndrome/
- https://www.washingtonpost.com/national/health-science/myofascial-pain-syndrome-often-leaves-doctors-baffled-and-patients-untreated/2013/06/17/1afb5766-6c86-11e2-8740-9b58f43c191a_story.html
- http://news.health.com/2015/09/07/how-pms-makes-post-workout-muscle-soreness-worse/

12 ตุลาคม 2559

ผู้ชม 31951 ครั้ง

    Engine by shopup.com